การประยุกต์ มรรค 8 (แนวทางในการดับทุกข์) ในชีวิตประจำวันของเรา

 17 ส.ค. 2564 07:51 น.    เข้าชม 16115    Managing Yourself
การประยุกต์ มรรค 8 (แนวทางในการดับทุกข์) ในชีวิตประจำวันของเรา

ทำไมเราต้องมีความทุกข์....คำถามนี้ ดูเหมือนว่าจะยากที่จะหาคำตอบ

และก็ไม่ใช่เรื่องผิดปกติอะไร ที่เราจะเกลียดความทุกข์

จงเกลียดมันไปเถอะ....แต่หลังจากที่ท่านมอบความเกลียดให้กับ ความทุกข์

ท่านอย่าลืม “ขอบคุณ” ความทุกข์...

 

อะไรอีกล่ะ ...เมื่อเราเกลียดความทุกข์ แล้วทำไมเราต้องขอบคุณ “ความทุกข์” ด้วยล่ะ

 

และนี่แหละคือคำตอบว่า “ทำไมเราต้องมีความทุกข์”

เพราะหากเราไม่มีความทุกข์ เราก็ไม่รู้จักความสุข

ดังนั้น ความทุกข์ ความสุข เป็นของคู่กัน...เหมือนปาท่องโก๋ อย่างใด อย่างนั้น

 

ถ้าเมื่อเกิดความทุกข์ ก็ต้องขจัดความทุกข์นั้นให้ออกไปจากชีวิต เพื่อที่เราจะได้ประสบกับความสุข

เพราะถ้าหากเรารู้สึกทุกข์อยู่ทุกวี่ทุกวัน มันคงจะไม่ดีแน่...อาจจะเป็นโรคซึมเศร้าเอาได้ง่ายๆ

ในทางพุทธศาสนา มีหลักธรรมอยู่หลักธรรมหนึ่ง ที่ผมคิดว่า เราสามารถเอามาปรับใช้ในการขจัดความทุกข์ในชีวิตประจำวัน..ของเราได้

หลักธรรม ที่ผมพูดถึงนี้ ก็คือ “มรรคแปด หรือ หนทางในการดับทุกข์”

มาดูกันว่า มรรคแปด มีองค์ประกอบอะไรกันบ้าง และแต่ละมรรคจะสามารถประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้อย่างไร

มรรคแรก สัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิหรือ แนวความคิด หรือ ชุดความคิดที่ถูกต้อง ชีวิตก็จะเดินหน้าไปในเส้นทางที่ดี ที่ถูกต้อง มีโอกาสจะเจอเรื่องดีๆ มากกว่าเรื่องร้ายๆ เนื่องจากสมองมองหาแต่สิ่งดีๆ

นี่ถือเป็นจุดเริ่มของการขจัดปัญหา และอุปสรรค หรือ ความทุกข์ที่เกิดขึ้นในแต่ละวันเลยทีเดียว

 

 

มรรคที่สอง สัมมาสังกัปปะ

มรรคที่สอง คือ สัมมาสังกัปปะ หรือ การดำริชอบ เป็นผลมาจากการมีสัมมาทิฏฐิ หรือ ชุดความคิดที่ดี ที่ถูกต้อง

ความคิดที่ดี ที่ถูกต้อง เป็นความคิด ที่เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตน ของผู้คนรอบข้าง ของสังคม

มรรคที่สาม สัมมาวาจา

มรรคที่สาม สัมมาวาจา คือ การพูดชอบ การไม่พูดในเชิงลบ

การรู้จักพูดดีๆ กับตนเอง หรือ พูดดีๆ กับผู้อื่น หรือ ที่เราเรียกว่า Positive Self Talk ในกรณีที่เราพูดคุยกับตนเอง หรือ Positive Talk ในกรณีที่เราพูดคุยกับคนอื่น

มรรคที่สี่ สัมมากัมมันตะ

มรรคที่สี่ สัมมากัมมันตะ คือ กระทำชอบ หรือ การไม่ประพฤติชั่วทางกาย เช่น การฆ่าสัตว์ การลักขโมย การประพฤติผิดในกาม หรือ การกระทำทางกายใดๆ ที่จะนำมาสู่การสร้างความเดือดร้อนให้กับตนเอง คนรอบข้าง และสังคม

มรรคที่ห้า สัมมาอาชีวะ

มรรคที่ห้า สัมมาอาชีวะ คือ การมีอาชีพที่สุจริต ไม่คดโกง ไม่หลอกลวง

มรรคที่หก สัมมาวายามะ

มรรคที่หก สัมมาวายามะ คือ เพียรชอบ หรือ การมุ่งมั่นไปสู่เป้าหมาย ไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค และ ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของ ความคิดแย่ๆ ความคิดลบๆ ที่ขวางกั้นการไปสู่เป้าหมายที่สร้างสรรค์ของชีวิต

มรรคที่เจ็ด คือ สัมมาสติ

มรรคที่เจ็ด คือ สัมมาสติ อันนี้สำคัญมาก นั่นคือ การเท่าทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น สามารถเป็นเจ้านายของอารมณ์ ไม่ใช่ให้อารมณ์มาเป็นเจ้านายเรา

สัมมาสติ เปรียบได้ดั่ง Sensor ตรวจจับอารมณ์/ความรู้สึก หากเรามีสติกล้าแข็ง เราจะเท่าทันอารมณ์ความรู้สึก

ดังนั้น เราจึงต้องหมั่นฝึกสติ...ด้วยการกำหนดรู้

มรรคที่แปด สัมมาสมาธิ

และ มรรคที่แปด สัมมาสมาธิ หรือ การ Focus ในสิ่งที่ทำ ไม่เป๋ไป เป๋มา...และไปสู่เป้าหมายได้อย่างมีพลัง

ในทุกๆ วัน วันละ อย่างน้อย 5 นาที เราจำเป็นต้องฝึกสมาธิ เช่น การกำหนดลมหายใจ การจดจ่ออยู่กับลมหายใจ การที่เราทำแบบนี้ ทุกวันจะทำให้จิตของท่านมีพลังแห่งการ Focus ที่สามารถนำไปเกื้อกูลต่อมรรคที่หนี่ง ถึง มรรคที่เจ็ด

 

สิ่งที่ผมอยากให้ทุกท่านทำ หลังจากอ่านบทความนี้จบ นั่นคือ ให้ท่านถามตนเอง หรือ ประเมินตนเองว่า ด้วยการให้คะแนนตนเอง จาก 1 ถึง 10 ในแต่ละมรรค ท่านมีสถานะเป็นอย่างไร

 

ยกตัวอย่างเช่น ความเข้มแข็งของสติ เป็นอย่างไร เป็นต้น...

 

ลองถามตนเอง และลองนำมรรคแปดไปประยุกต์ใช้ในฐานะมนุษย์โลกกันนะครับ...


Comment